วันพฤหัสบดีที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2553

ปลูกคะน้า “ ปลอดสารพิษ ” กู้วิกฤตตามหลัก “ เศรษฐกิจพอเพียง ”


คุณธีรยุทธ  วงศ์ษา  เกษตรกรชาวสวนผัก ที่ อ.ร่อนพิบูลย์  จ.นครศรี ธรรมราช ซึ่งเป็นอีกท่านหนึ่งที่ให้ความสนใจเกี่ยวกับการทำเกษตรแบบปลอดสารพิษ โดยน้อมนำหลักทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมา ปฏิบัติร่วมกับการศึกษาข้อมูลทางวิชาการจากชมรมเกษตรปลอดสารพิษเพื่อ ประโยชน์ในการประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับพื้นที่และเกิดประโยชน์สูงสุด

ในกาลนี้ คุณธีรยุทธ  กล่าวว่าได้นำข้อมูลที่ได้จากการศึกษาค้นคว้าบ้าง  คำ แนะนำจากนักวิชาการของชมรมฯบ้างบวกประสบการณ์ส่วนตัวเกี่ยวกับการปลูกผักกิน ใบ โดยเฉพาะ คะน้า กวางตุ้ง ผักบุ้ง เป็นต้น อาจกล่าวได้ว่าเป็นแนวคิดและวิธีการที่ดีเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน ที่ต้องประหยัดค่าใช้จ่าย ในเรื่องต้นทุนการผลิต  ยกตัวอย่างเช่น
การปลูกคะน้า (เชิงการค้า)โดยมีวิธีการและแนวคิดดังนี้

  •        ศึกษาความต้องการของตลาด : คะน้าที่ตลาดกลางหรือผู้บริโภคต้องกี่ขนาด อะไรบ้าง และมีแผนรองรับกรณีตลาดฝืดไม่คล่องตัว เช่น การแปรรูปเป็นสินค้าชนิดอื่น

  •    รู้จักกับพืชที่จะนำมาปลูก : คะน้า เป็นผักที่คนไทยทุกคนรู้จักกันดี อยู่ในตระกูล Cruciferae มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Brassica alboglabra เป็น ผักที่นิยมปลูกทั่วทุกภาค เพื่อบริโภคส่วนของใบและลำต้น ซึ่งมีอายุตั้งแต่หว่านหรือหยอดเมล็ดจนถึงเก็บเกี่ยวประมาณ 45-55 วัน ที่สำคัญสามารถปลูกได้ตลอดทั้งปี แต่ช่วงที่ให้ผลผลิตดีที่สุดอยู่ช่วงประมาณเดือนตุลาคมถึงเมษายน และนอกจากนี้คะน้าเป็นผักที่สามารถขึ้นได้ในดินแทบทุกชนิดที่มีความอุดม สมบูรณ์สูงมีความเป็นกรดเป็นด่าง (pH) ของดินอยู่ ระหว่าง 5.5 - 6.8 และมีความชื้นในดินสูงสม่ำเสมอ มีความต้องการแสงแดดเต็มที่ คะน้าสามารถเจริญเติบโตและให้ผลผลิตได้ดีเป็นที่น่าพอใจ ช่วงอุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ 20 – 25 องศาเซลเซียส

  • การเตรียมดินปลูก : เนื่อง จากคะน้าเป็นผักที่หยั่งรากตื้น จึงควรขุดดินหรือไถพรวนลึกประมาณ 15-20 เซนติเมตร ก่อนทำการไถพรวนควรฉีดพ่นเชื้อไตรโคเดอร์ม่าให้ทั่วแปลงเสียก่อนเพื่อ ป้องกันหรือกำจัดเชื้อฟัยท๊อปเทอร์ร่า ( เชื้อสาเหตุ : ราก เน่าโคนเน่า ) ตากดินทิ้งไว้ประมาณ 7-10 วัน แล้วนำปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักที่สลายตัวดีแล้ว (แห้ง) มาผสมกับภูไมท์ซัลเฟตเหลือง (ผง) ในอัตรา 10 : 2 ส่วนตามลำดับ หว่านให้ทั่วแปลงก่อนทำการไถกลบพรวนย่อยหน้าดินให้มีขนาดเล็ก ( เพื่อปรับปรุงโครงสร้างเพิ่มธาตุอาหารในดิน ) เพื่อสะดวกในการหว่านเมล็ดลงแปลงและไม่ตกลึกลงไปในดิน เพราะจะไม่งอกหรืองอกยาก
** หมายเหตุ : วิธีการหมักเชื้อไตรโคเดอร์ม่า เพื่อลดต้นทุน นำเชื้อไตรโคเดอร์ม่า 1 ช้อนแกง + น้ำเปล่า 20 ลิตร+ กากน้ำตาล/ น้ำตาลทรายแดง 1 กก. หมักทิ้งไว้ 8 ชั่วโมง แล้วนำไปผสมน้ำเปล่า 200 ลิตร ก่อนทำการฉีดพ่น

  •  การดูแลรักษา
การให้น้ำ : คะน้า เป็นพืชที่ต้องการน้ำอย่างเพียงพอและสม่ำเสมอเพราะต้นคะน้ามีการเจริญเติบโต อย่างรวดเร็ว ดังนั้นการปลูกคะน้าจึงต้องปลูกในแหล่งที่มีน้ำเพียงพอตลอดฤดูปลูก หากคะน้าขาดน้ำจะทำให้ชะงักการเจริญเติบโตและคุณภาพไม่ดีเท่าที่ควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะที่เมล็ดเริ่มงอกยิ่งขาดน้ำไม่ได้เลย การให้น้ำควรให้แบบพ่นฝอยให้ชุ่มโชกทั่วแปลง วันละ 2 เวลา คือช่วงเช้าและเย็น
การใส่ปุ๋ย : เนื่องจากคะน้าเป็นผักกินใบและลำต้นจึงควรใส่ปุ๋ยที่มีธาตุไนโตรเจนสูง สัดส่วนของธาตุอาหารในปุ๋ยที่ใช้คือ N:P:K  เท่ากับ 2:1:1 เช่น ปุ๋ยสูตร 12-8-8 หรือ 20-11-11  แบ่งออกเป็น 2 ครั้ง โดยแต่ครั้งให้นำภูไมท์ซัลเฟตเหลืองมาผสมด้วย ในอัตรา 5 : 2 ส่วนตามลำดับ ( ช่วยในการประหยัด เพิ่มธาตุอาหารให้กับพืช ) คือ 1.ใส่หลังจากการถอนแยกครั้งที่ 1  2.หลังจากถอนแยกครั้งที่ 2   อย่างไรก็ตามหากสังเกตเห็นว่าผักที่ปลูกไม่ค่อยเจริญเติบโตเท่าที่ควรอาจจะใส่ปุ๋ยบำรุงเพิ่มเติม เช่น ปุ๋ยยูเรีย (46 -0 -0 )  ปุ๋ยแอมโมเนียมไนเตรท โดยให้ทางรากหรือละลายน้ำในอัตราประมาณ 3-4 ช้อนแกงต่อน้ำ 1 ปี๊บ ฉีดพ่นทางใบ

  •    การเก็บเกี่ยวผลผลิต
1.คะน้ามีอายุประมาณ 20 วัน หรือต้นสูงประมาณ 10 เซนติเมตร ให้เริ่มทำการถอนแยกโดยเลือกถอนต้นที่แน่นเกินไปออก ให้เหลือห่างระหว่างต้นไว้ประมาณ 10 เซนติเมตร ส่งขายตลาดเป็นเศษผัก
2.คะน้ามีอายุประมาณ 30 วัน จึงทำการถอนแยกโดยให้เหลือห่างระหว่างต้น 20 เซนติเมตร ส่งขายตลาดเป็นยอดผัก ซึ่งผู้บริโภคนิยมรับประทานเป็นยอดผักเพราะอ่อนและอร่อย
3.คะน้ามีอายุประมาณ 45 -55 วัน 
- คะน้าอายุ 45 วัน เป็นระยะที่ตลาดมีความต้องการมาก
- คะน้าที่มีอายุ 50-55 วันเป็นระยะที่เก็บเกี่ยวได้น้ำหนัก
ในการเก็บเกี่ยวควรใช้มีดปลายแหลมตัดให้ชิดโคนต้น การตัดควรตัดไล่เป็นหน้ากระดานไป เมื่อตัดแล้วนำมามัด ๆ ละ 5 กิโลกรัม หรือบรรจุลงเข่งโดยไม่ต้องมัด ทั้งนี้ก็เพื่อความสะดวกในการขนส่งและซื้อ – ขาย  
การเก็บเกี่ยวคะน้าให้ได้คุณภาพ ความสด รสดีและสะอาดนั้นควรปฏิบัติดังนี้
 1. เก็บผักในเวลาเช้าดีกว่าเวลาบ่าย
 2. ควรใช้มีดเล็กๆ ตัด อย่าเก็บหรือเด็ดด้วยมือ
 3. อย่าปล่อยให้ผักแก่เกินไป
 4. ผักที่แสดงอาการไม่ปกติควรรีบเก็บเสียก่อน
 5. เมื่อเก็บเกี่ยวเสร็จแล้วควรรีบนำเข้าร่มในที่อากาศโปร่งและเย็น
 6. ภาชนะที่ใช้บรรจุผักคะน้าควรล้างให้สะอาด
สรุปว่า : การปลูกคะน้าในแต่ละฤดูปลูกสามารถขายได้ 3 ครั้ง คือ เมื่อคะน้าอายุ 20 วัน , 30 วัน, 45-55 วัน  ตามลำดับ

  •     แนวทางการป้องกันรักษาโรคและแมลงศัตรูในคะน้า
1.โรคเน่าคอดินของคะน้า
สาเหตุ : เกิดจากเชื้อรา  Pythium sp. หรือ Phytophthora sp. เป็น โรคที่เกิดขึ้นเฉพาะในแปลงต้นกล้าเท่านั้น เนื่องจากการหว่านเมล็ดที่แน่นทึบ อับลม และต้นเบียดกันมาก ถ้าในแปลงมีเชื้อโรคแล้วต้นกล้าจะเกิดอาการเป็นแผลช้ำที่โคนต้นระดับดิน เนื้อเยื่อตรงแผลจะเน่าและแห้งไปอย่างรวดเร็ว ถ้าถูกแสงแดดทำให้ต้นกล้าหักพับ ต้นเหี่ยวแห้งตายในเวลารวดเร็ว บริเวณที่เป็นโรคจะค่อยๆ ขยายกว้างออกไปเป็นวงกลม ภายในวงกลมที่ขยายออกไปจะไม่มีต้นกล้าเหลืออยู่เลย ส่วนกล้าที่โตแล้วจะค่อยๆ เหี่ยวตายไป
การป้องกันกำจัด : ไม่ หว่านเมล็ดคะน้าให้แน่นเกินไป ควรใช้เชื้อไตรโคเดอร์ม่า หมัก ( หมายเหตุ ข้างต้น) ฉีดพ่นให้ทั่วแปลงปลูก ทุกๆ 3-4 วัน/ครั้ง ร่วมกับทำทางระบายน้ำป้องกันน้ำขังแฉะในแปลงช่วงที่เป็นต้นกล้า
2.โรคราน้ำค้างของคะน้า
สาเหตุ : เกิดจากเชื้อรา  Peronospora parasitica  ใบ จะเป็นจุดละเอียดสีดำอยู่รวมกันเป็นกลุ่มเล็กๆ ด้านใต้ใบ ตรงจุดเหล่านี้จะมีราสีขาวอมเทาอ่อนคล้ายผงแป้งขึ้นเป็นกลุ่มๆ กระจายทั่วไป ใบที่อยู่ตอนล่างๆ จะมีแผลเกิดก่อนแล้วลุกลามขึ้นไปยังใบที่อยู่สูงกว่า ใบที่มีเชื้อราขึ้นเป็นกลุ่มกระจายเต็มใบจะมีลักษณะเหลืองและใบจะร่วงหรือ แห้ง ในเวลาที่อากาศไม่ชื้นจะไม่พบผงแป้งและแผลแห้งเป็นสีเทาดำ โรคนี้ระบาดได้ทั้งแต่ระยะที่เป็นต้นกล้าจนเจริญเติบโตเต็มที่ ซึ่งจะทำความเสียหายมากเพราะทำให้ใบเสียมากและเจริญเติบโตช้า โรคนี้ไม่ทำให้ต้นคะน้าตาย แต่ทำให้น้ำหนักลดลง เพราะต้องตัดใบที่เป็นโรคทิ้ง ทำให้ได้น้ำหนักน้อยลง
การป้องกันกำจัด : ควร ใช้บาซิลลัส พลายแก้ว 5 กรัม หมักด้วยน้ำมะพร้าว 1 ผล หลังหมัก 24 ชั่วโมง ผสมน้ำเปล่า 20 ลิตร ฉีดพ่นทุก ๆ 3-4 วันกรณีรุนแรง หรือ ฉีดสลับกับสารสกัดแซนโธไนท์ ( เปลือกมังคุด ) ร่วมกับฟังกัสเคลียร์ ( สารจุลสี )
3.โรคแผลวงกลมสีน้ำตาลไหม้  
สาเหตุ : เกิดจากเชื้อรา  Alternaria sp. ใบ แก่ที่อยู่ตอนล่างของลำต้นจะเป็นโรคนี้มาก ใบที่เป็นโรคจะมีแผลวงกลมสีน้ำตาลซ้อนกันหลายชั้น เนื้อเยื่อรอบๆ แผลเปลี่ยนเป็นสีเหลืองขนาดของแผลมีทั้งใหญ่และเล็ก บนแผลมักจะมีเชื้อราขึ้นบางๆ มองเห็นเป็นผงสีดำ เนื้อเยื่อบุ๋มลงไปเล็กน้อย
การป้องกันกำจัด : ควร ใช้บาซิลลัส พลายแก้ว 5 กรัม หมักด้วยน้ำมะพร้าว 1 ผล หลังหมัก 24 ชั่วโมง ผสมน้ำเปล่า 20 ลิตร ฉีดพ่นทุก ๆ 3-4 วันกรณีรุนแรง หรือ ฉีดสลับกับสารสกัดแซนโธไนท์ ( เปลือกมังคุด ) ร่วมกับฟังกัสเคลียร์ ( สารจุลสี )
4.หนอนกระทู้ผัก
       หนอนกระทู้ผัก Spodoptera litura  ตัวเต็มวัยเป็นผีเสื้อกลางคืน เมื่อกางปีกกว้างประมาณ 3 เซนติเมตร ลำตัวยาว 1.5 เซนติเมตร ปีกคู่หน้ามีจุดสีน้ำตาลเข้ม มีลวดลายเต็มปีก ส่วนปีกคู่หลังสีขาวและบาง ลำตัวมีขนสีน้ำตาลอ่อนปกคลุมอยู่ ตัวเมียวางไข่เป็นกลุ่มๆ ตัวเมียวางไข่ได้ประมาณ 200-300 ฟอง โดยมีขนสีน้ำตาลปกคลุมไข่ไว้ ไข่ใหม่ๆ จะมีสีขาวนวลและจะค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลและสีดำเมื่อใกล้ฟักออกเป็นตัวหนอน ไข่มีอายุประมาณ 3-7 วัน ตัวหนอนเมื่อออกจากไข่ใหม่ๆ จะมีสีเขียวอ่อนหรือสีนวลรวมกันเป็นกลุ่มตรงที่ไข่ฟักออกนั้น หนอนส่วนมากจะออกหากินในเวลากลางคืน ระยะตัวหนอนประมาณ 15-20 วัน จากนั้นจะเข้าดักแด้ตามใต้ผิวดิน ดักแด้มีสีน้ำตาลดำ ยาวประมาณ 1.50-1.80 เซนติเมตร ระยะดักแด้ประมาณ 7-10 วัน จึงเจริญเป็นตัวเต็มวัย
ลักษณะการทำลาย : โดย หนอนจะกัดกินใบและก้านใบของคะน้า มักจะเข้าทำลายเป็นหย่อมๆ ตามจุดที่ผีเสื้อวางไข่ หนอนชนิดนี้สังเกตได้ง่ายคือ ลำต้นอ้วนป้อม ผิวหนังเรียบ คล้ายหนอนกระทู้หอม มีสีสันต่างๆ กัน มีแถบสีขาวข้างลำตัวแต่ไม่ค่อยชัดนัก เมื่อโตเต็มที่จะมีขนาดประมาณ 3-4 เซนติเมตรเคลื่อนไหวช้า
 การป้องกันกำจัด : หมั่น ตรวจดูสวนผักบ่อยๆ เมื่อพบให้ทำลายเสีย หรือ ใช้เชื้อบีที – ชีวภาพ 5 กรัม+ไข่ไก่ 5 ฟอง +น้ำเปล่า 15 ลิตร+น้ำมันพืช 1.5 -2 ช้อนชา+สเม็คไทต์ 5 ขีด หลังหมักโดยให้อากาศแบบในตู้ปลา 24 ชั่วโมง ผสมน้ำเปล่าหรือน้ำละลายภูไมท์ 100 ลิตร ฉีดพ่นทุก ๆ 3 วัน กรณีรุนแรง ควบคู่กับการใช้ไทเกอร์เฮิร์ป 5-10 กรัมผสมน้ำ 20 ลิตร เพื่อป้องกันแม่ผีเสื้อกลางคืนกลับมาวางไข่
5.หนอนคืบกะหล่ำ
       หนอนคืบกะหล่ำ Trichoplusia ni  ตัวเต็มวัยเป็นผีเสื้อขนาดกลาง กางปีกเต็มที่ยาว 3 เซนติเมตร สีเทาดำ กลางปีกคู่หน้ามีจุดสีขาวข้างละ 1 จุด แม่ผีเสื้อจะวางไข่สีขาวนวลใต้ใบเม็ดกลมเล็กๆ ไข่จะถูกวางเดี่ยวๆ ทั่วไป ไข่มีอายุ 3 วันจึงฟักออกเป็นตัวหนอน หนอนที่มีขนาดเล็กจะแทะผิวใบด้านล่าง หนอนในระยะนี้มีสีใส ต่อมามีสีเข้มขึ้น เมื่อโตเต็มที่มีสีซีดลง มีสีขาวพาดยาว หนอนเมื่อโตเต็มที่ยาว 4 เซนติเมตร อายุหนอนประมาณ 2 สัปดาห์ จึงเข้าดักแด้ ดักแด้จะอยู่ใต้ใบคลุมด้วยใยบางๆ สีขาว ดักแด้ในระยะแรกจะมีสีเขียวอ่อน ต่อมามีบางส่วนเป็นสีน้ำตาล มีขนาดยาวเกือบ 2 เซนติเมตร อายุดักแด้ประมาณ 1 สัปดาห์ จึงเข้าระยะตัวเต็มวัย ซึ่งตัวเต็มวัยมีชีวิตอยู่ได้ประมาณ 1 สัปดาห์
ลักษณะการทำลาย : หนอน คืบกะหล่ำเป็นหนอนที่กินจุ เข้าทำลายคะน้าในระยะที่เป็นตัวหนอน โดยจะกัดกินเนื้อใบจนขาดและมักจะเหลือเส้นใบไว้หนอนชนิดนี้เมื่อเกิดระบาด แล้วจะแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็วมาก
การป้องกันกำจัด : หมั่น ตรวจดูไข่หรือตัวหนอนในระยะเล็กๆ หากพบควรใช้ เชื้อบีที – ชีวภาพ 5 กรัม+ไข่ไก่ 5 ฟอง +น้ำเปล่า 15 ลิตร+น้ำมันพืช 1.5 -2 ช้อนชา+สเม็คไทต์ 5 ขีด หลังหมักโดยให้อากาศแบบในตู้ปลา 24 ชั่วโมง ผสมน้ำเปล่าหรือน้ำละลายภูไมท์ 100 ลิตร ฉีดพ่นทุก ๆ 3 วัน กรณีรุนแรง ควบคู่กับการใช้ไทเกอร์เฮิร์ป 5-10 กรัมผสมน้ำ 20 ลิตร เพื่อป้องกันแม่ผีเสื้อกลางคืนกลับมาวางไข่
หากเกษตรกรท่านใด สนใจอยากทราบข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวการปลูกผักคะน้าปลอดสารพิษ สามารถติดต่อได้ที่ คุณธีรยุทธ  วงศ์ษา  เลขที่ 159  ม.16  ต.ร่อนพิบูลย์  อ.ร่อนพิบูลย์  จ.นครศรีธรรมราช 80130 โทร.081-8226588 หรือ ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ 02-9861680 , 081-3983128 หรือ email : thaigreenagro.com

plant2pet : ร้านค้า จำหน่ายเมล็ดพันธุ์พืช online www.plant2pet.com
จำหน่ายเมล็ดพันธุ์พืช แบบซอง
จำหน่าย ยาถ่ายพยาธิ สำหรับสุนัขและแมวคุณภาพสูง
@@@ ร้านเรามี เมล็ดพันธุ์พืช คุณภาพสูง ราคาไม่แพง จำหน่าย@@@
   
  เมล็ดพันธุ์ผักแบบซอง  ราคาซองละ 15 บาท มีหลายชนิด เช่น  ผักชี  พริกขี้หนู  ถั่วฝักยาว  ผักกาดขาว และ  อีกมากมาย
  เมล็ดดอกไม้ แบบซอง  ราคาซองละ 20 บาท  เช่น  ดาวเรือง  ดาวกระจาย  ดอกทานตะวัน  ดอกเบญจมาศ
สนใจสินค้าของทางร้านเชิญเข้าชมสินค้าได้เลยครับ  www.plant2pet.com
Tel : 089-992-1777 , 02-395-0070
BB pin : 22299B2B

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น